Skip to main content

กรอบความร่วมมือกระบวนการโคลัมโบ (Colombo Process : CP)

๑. ความเป็นมา 

         กรอบความร่วมมือกระบวนการโคลัมโบ (Colombo Process : CP) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2003 โดยประเทศผู้ส่งแรงงานในภูมิภาคเอเชียจำนวน 10 ประเทศ (บังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม) เพื่อหารือและให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการบริหารจัดการ    ส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ และต่อมาอีก ๒ ประเทศอัฟกานิสถาน และกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก CP โดยมีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของกรอบความร่วมมือ CP

 

๒. ประเทศสมาชิกและผู้สังเกตการณ์

มี 1๒ ประเทศสมาชิก ได้แก่ อัฟกานิสถาน กัมพูชา บังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม

และ 8  ประเทศผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ บาห์เรน อิตาลี คูเวต มาเลเซีย กาตาร์ สาธารณรัฐเกาหลี ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต

 

๓. วัตถุประสงค์ของกระบวนการโคลัมโบ      

          ๓.๑ เป็นเวทีหารือปัญหาของแรงงานที่ทำงานต่างประเทศระหว่างประเทศผู้ส่งและรับแรงงาน และเสนอแนวทางแก้ปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศ

          ๓.๒ ส่งเสริมการเจรจากับประเทศผู้รับแรงงานเพื่อรักษาประโยชน์จากการจ้างแรงงานไปทำงานต่างประเทศที่เป็นระบบ

          ๓.๓ ทบทวนและติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ และกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานในอนาคต

          ๓.๔ ให้การคุ้มครองและบริการแก่แรงงานต่างด้าวที่ไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานจากการถูกเอาเปรียบจากการจัดหางานและการทำงาน

         ๓.๕ เสริมสร้างสมรรถนะ จัดเก็บข้อมูล และความร่วมมือระหว่างรัฐ                  

         ๓.๖ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียน และแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงานในต่างประเทศของประเทศสมาชิก

๔. กิจกรรม

         ๔.๑ การประชุมรัฐมนตรีกระบวนการโคลัมโบ จัดขึ้นประจำทุก ๒ ปี

         ๔.๒ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระบวนการโคลัมโบ จัดประจำทุกปี โดยในปีที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสก่อนหน้า ( back to back)

         ๔.๓ การประชุม Thematic Area Working Group (TAWG) ของสาขาความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ทักษะฝีมือและระบบการยอมรับคุณสมบัติ 2) การดูแลการจัดหางานที่มีจริยธรรม 3) การอบรมก่อนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็ง 4) การส่งเงินกลับภูมิลำเนา และ 5) การวิเคราะห์ตลาดแรงงาน โดยมีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการของกรอบความร่วมมือ CP (Colombo Process Technical Support Unit: CP TSU) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของ TAWG

๕. การเป็นประธานกระบวนการ CP

          ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกไม่ได้มีข้อตกลงในการเป็นประธานกระบวนการ CP แต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ประเทศสมาชิกเห็นชอบให้ยึดแนวทางการหมุนเวียนเป็นประธานกระบวนการ CP ซึ่งใช้ระบบตามความสมัครใจโดยเรียงตามลำดับตัวอักษร   

 

ประธานกระบวนการ CP จะดำรงตำแหน่งคราวละ  ๒ ปี โดยประเทศที่เป็นประธานจะรับหน้าที่หลักในการจัดประชุมทั้งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี รวมถึงการประชุมอื่นๆ ตามความจำเป็น และประธานจะเป็นผู้แทนและปฏิบัติงานแทนกระบวนการ CP ในการหารือระดับภูมิภาคอื่นหรืองานอื่นๆ เพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ของกระบวนการ CP โดยสอดคล้องกับการตัดสินใจของประเทศสมาชิก

 

๖. กลไกการกำหนดงบประมาณ

         ที่ผ่านมาการประชุมและการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือ CP จะขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศผู้บริจาค แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ประเทศสมาชิกเห็นพ้องที่จะสนับสนุนค่าบำรุง           ปีละ ๔,545 USD (เพื่อจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสปีละ ๑ ครั้ง และการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอีก ๑ ครั้ง   ในทุก ๒ ปี)  โดยเริ่มการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

 

  1. 7. พัฒนาการล่าสุด

         กระบวนการโคลัมโบได้จัดการประชุมทั้งระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสมาแล้ว ๕ ครั้ง โดย           ครั้งที่ ๑ ศรีลังกา (พ.ศ. ๒๕๔๖) ครั้งที่ ๒ ฟิลิปปินส์ (พ.ศ.๒๕๔๗) ครั้งที่ ๓ อินโดนีเซีย (พ.ศ. ๒๕๔๘) ครั้งที่ ๔ บังกลาเทศ (พ.ศ. ๒๕๕๔) ครั้งที่ ๕ ศรีลังกา (พ.ศ.๒๕๕๙) และเนปาลจะจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ และคาดว่าจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๕๖๒

 

——————————————–

 

จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน

สิงหาคม 2561

40
TOP