Skip to main content

กรอบความร่วมมือ Greater Mekong Subregion : GMS

  1. ความเป็นมา

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ( Greater Mekong Subregion : GMS ) คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจธรรมชาติที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านซึ่งมีพื้นที่รวมกันประมาณ 2.6 ล้านตารางกิโลเมตร และ มีประชากรรวมทั้งสิ้น 326 ล้านคนโดยกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ได้ร่วมกันจัดตั้งแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อปี พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันและตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันโดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB)

 

  1. โครงสร้างและประเทศสมาชิก

ประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจธรรมชาติที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน หรือ GMS ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน (โดยเฉพาะมณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ ราชอาณาจักรไทย  

แผนงาน GMS ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี และ หุ้นส่วนการพัฒนารายอื่นๆ มีส่วนช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษโดยอาศัยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน  การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน และ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจและวิสัยทัศน์ของ ADB ซึ่งมุ่งมั่นที่จะลดความยากจนผ่านการเติบโต  ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และ การบูรณาการในภูมิภาค ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวความคิดด้านนโยบาย การให้เงินกู้ การเข้าร่วมทุนในโครงการ การค้ำประกัน การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า และ ความช่วยเหลือทางวิชาการ

 

  1. วัตถุประสงค์หลักของกรอบความร่วมมือ Greater Mekong Subregion : GMS

ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชียและผู้สนับสนุนรายอื่น แผนงาน GMS มีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการจัดทำและดำเนินโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคในหลากหลายสาขา โดยความร่วมมือในระยะแรก ครอบคลุม 9 สาขาที่มีลำดับความสำคัญสูง ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง และการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง ด้านพลังงาน     ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านการท่องเที่ยว การค้า ตลอดจนการลงทุนในภาคเอกชน และการสนับสนุนและช่วยเหลือด้านเกษตรกรรม

 

  1. การดำเนินงาน

แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program : GMS Program) ระบุแนวทางการดำเนินการโครงการที่มีความสำคัญของอนุภูมิภาคในหลากหลายสาขา เพื่อสร้างอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการและเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความปรองดอง และความมั่งคั่งตามวิสัยทัศน์ โดยแผนงาน GMS ได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันไว้ 3 ด้าน (3Cs) ดังนี้

  • สร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ระหว่างกันให้มากขึ้นผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่ยั่งยืนและยกระดับโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งให้เป็นแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridors)
  • เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน (Competitiveness) ผ่านการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการบูรณาการของตลาด กระบวนการผลิต และห่วงโซ่คุณค่า
  • สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน (Community) ผ่านโครงการและแผนงานที่ตอบสนองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

  1. กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development – HRD) ปี ค.ศ. 2012 – 2022

กรอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(HRD)ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับการอนุมัติในปี ค.ศ. 2009 ให้การสนับสนุนความพยายามริเริ่มต่างๆในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่จะมีส่วนช่วยอย่างมีนัยสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือและการบูรณาการในระดับอนุภูมิภาค โดยแผนปฏิบัติงานตามกรอบยุทธศาสตร์จะครอบคลุมการดำเนินงานใน 5 ด้านหลัก ดังต่อไปนี้

  • สนับสนุนการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการให้การศึกษา พัฒนาทักษะและ สมรรถนะของรัฐบาลในกลุ่มประเทศ GMS ให้มีการดำเนินตามแผนงาน Phnom Penh Plan ซึ่งเป็นแผนงานพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันถึงทักษะทางด้านเทคนิค และ ทักษะด้านวิชาชีพในกลุ่มประเทศ GMS
  • สนับสนุนการอพยพย้ายถิ่นฐานของแรงงานภายในอนุภูมิภาคให้เกิดขึ้นอย่างปลอดภัย รวมถึงปรับปรุงระบบการบริหารจัดการด้านแรงงาน ส่งเสริมระบบ การปกป้องและคุ้มครองทางสังคมให้กับแรงงานต่างด้าว และ พัฒนาระบบข้อมูลตลาดแรงงาน
  • สนับสนุนการป้องกันโรคติดต่อ (เช่น เอชไอวี/เอดส์ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก)ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาค ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนากลไกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหารและยา
  • ส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาทางสังคม การร่วมมือในระดับ อนุภูมิภาคเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนที่มี          ความเปราะบางเป็นพิเศษ เช่น ผู้หญิง การจัดศึกษาวิจัยถึงผลกระทบทางสังคมของความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคที่มีเพิ่มมากขึ้น และการสร้างเสริมความรู้สึกมีส่วนร่วม กับชุมชนของเยาวชนในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
  • สร้างความเข้มแข็งให้กับความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันในภูมิภาค รวมถึงกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD)  ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)

 

  1. ความเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงาน GMS ในประเด็น Human Resources Development (HRD) อันจะเห็นได้จากการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีภารกิจในการพัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานในพื้นที่รับผิดชอบ ให้มีความรู้ ทักษะ และ สมรรถนะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสร้าง ขีดความสามารถและรองรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การอบรมให้แก่ครูฝึกและบุคคลากรจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ การสัมมนาระหว่างประเทศ

 

—————————————————–

 

จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน

สิงหาคม 2561

 

139
TOP