Skip to main content

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM)

  1. การจัดตั้งองค์การ

                   IOM มีฐานะเป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 หลังจากการประชุมนานาชาติ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เดิมใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐานในยุโรป” (International Committee for European Migration – ICEM)                     มีวัตถุประสงค์แต่เริ่มแรกเพื่อช่วยเหลือขนย้ายผู้พลัดถิ่น  อันเนื่องมาจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และขนย้ายประชาชนจากทวีปยุโรปไปตั้งถิ่นฐานใน ทวีปอเมริกาใต้ภายหลังสงคราม รวมทั้งมีบทบาทช่วยเหลือให้ผู้พลัดถิ่น และผู้โยกย้ายถิ่นฐานให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใหม่

                   ต่อมา ICEM ได้ขยายขอบข่ายการปฏิบัติงานออกไปทั่วโลก จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน” (Intergovernmental Committee for Migration – ICM) และในปี 2533 ICM ก็ได้แก้ไขธรรมนูญโดยความเห็นชอบของประเทศสมาชิก (รวมทั้งประเทศไทย) เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทขององค์การที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในกิจกรรมการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการพัฒนา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น International Organization for Migration – IOM ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

                   IOM มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

  1. ประเทศสมาชิก

                   ปัจจุบัน (มิถุนายน 2548) IOM มีประเทศสมาชิกรวม 112 ประเทศ และมีประเทศผู้สังเกตการณ์รวม 23 ประเทศ นอกจากนี้ สมาชิกของ IOM ยังประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติและองค์การพัฒนาเอกชน (NGOs)

                   ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก IOM เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2529 และเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหาร IOM ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2532 ถึงพฤศจิกายน 2534 เป็นเวลา 2 ปี

 

  1. องค์กร

                   องค์กรของ IOM ประกอบด้วย

                   3.1 คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งจะประชุมสมัยสามัญกันปีละ 1 ครั้ง มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนโยบาย โครงการ และงบประมาณ

                   3.2 คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ประกอบด้วยประเทศสมาชิก                      11 ประเทศ และจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี มีหน้าที่เตรียมการและเสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะมนตรีโดยไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ

                   3.3 ฝ่ายบริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการใหญ่และรองผู้อำนวยการใหญ่

 

  1. งบประมาณ

                   IOM จัดสรรงบประมาณออกเป็น 2 ส่วนคือ งบด้านการบริหารและงบด้านการปฏิบัติการ            

 

  1. ภารกิจของ IOM ในประเทศไทย
  • IOM เริ่มปฏิบัติภารกิจในไทยตั้งแต่ปี 2518 โดยให้ความช่วยเหลือเรื่อง

การตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน บทบาทและการประสานงานระหว่าง IOM กับรัฐบาลของประเทศต่างๆ    ในภูมิภาคได้เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกของ IOM ในปี 2529

  • หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่หลักในการประสานงานกับ IOM ในไทยได้แก่

กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย

  • IOM มีสำนักงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ต่างชาติจำนวน 26 คน

รวมถึง Chief of Mission, ผู้แทนส่วนภูมิภาค โดยปัจจุบันชื่อ นางสาว Reiko Matsuyama เจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการ ผู้ประสานงานโครงการส่วนภูมิภาค Regional Laboratory Manager และแพทย์และพยาบาล และมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจำนวน 53 คน

  • ตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 สำนักงาน IOM ณ กรุงเทพฯ ได้ขยายเป็น

สำนักงานระดับภูมิภาค โดยจะปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครอบคลุมกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน และปัจจุบัน IOM มีสำนักงานในกัมพูชา เวียดนาม ลาวและเมียนมา

  • สำนักงาน IOM ที่กรุงเทพฯ มีภารกิจในการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผล

ของปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่เป็นระบบ (Bangkok Declaration on Irregular Migration) ดังนั้น สำนักงาน IOM ที่กรุงเทพฯ จึงจัดทำโครงการทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับปฏิญญาดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน เช่น แรงงาน สุขภาพ การประสานความร่วมมือทางวิชาการ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การสร้างความตระหนักโดยการประชาสัมพันธ์ข้อมูล และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่เป็นระบบในภูมิภาค

 

————————————————

 

จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน

สิงหาคม 2561

275
TOP