Skip to main content

APEC

ความร่วมมือในกรอบเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation : APEC)

 

  1. ความเป็นมา :

          “เอเปค (APEC)” เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจ[1] (economy) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 (ค.ศ. 1989) โดยนาย Bob Hawke นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น ที่มองว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องเกาะเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกและทวีปอเมริกาเหนือ ท่ามกลางแนวโน้มของการขยายกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในยุโปและอเมริกาเหนือ และความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไทยอยู่ในสมาชิกแรกเริ่มของเอเปคตั้งแต่ต้น ซึ่งมี 12 เขตเศรษฐกิจคือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกา ต่อมาเอเปคได้รับสมาชิกเพิ่มในปีต่างๆ รวมเป็น 21 เขตเศรษฐกิจ ดังนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีน (2534) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (2534) จีนไทเป (2534) เม็กซิโก (2536) ปาปัวนิวกินี (2536) ชิลี (2537) เปรู (2540) เวียดนาม (2540) และรัสเซีย (2540)

         เอเปคสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบเปิดกว้าง (open regionalism) โดยสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกเอเปคให้แก่กันจะมีผลให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกเอเปคได้รับประโยชน์ด้วย (ปกติกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นจะให้สิทธิประโยชน์แก่กันและกันเฉพาะในกลุ่ม และใช้หลักการเจรจาต่างตอบแทนเพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์กับประเทศที่มิได้เป็นสมาชิก) เอเปคมีเป้าหมายสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี (multilateral trading system) โดยการดำเนินการของเอเปคจะเป็นการหารือ อย่างตรงไปตรงมา มิใช่เจรจา แต่ยึดหลักการฉันทามติ (consensus) และความสมัครใจ (voluntarism)    ของทุกฝ่าย ความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก โดยคำนึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของสมาชิก

         เป้าหมายของเอเปค คือ เป้าหมายโบกอร์ ที่สมาชิกเอเปคเห็นชอบในระหว่างการประชุมผู้นำฯ ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2537 ที่จะให้มีการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในภูมภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเริ่มจากสมาชิกที่พัฒนาแล้วภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และสมาชิกกำลังพัฒนาที่เหลือภายในปี 2563 (ค.ศ.2020)

 

  1. โครงสร้างองค์กรเอเปค :

          โดยที่เอเปคก่อตั้งขึ้นมาด้วยความต้องการที่จะเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบหลวมๆ จึงไม่มีการจัดตั้งโครงสร้างองค์กรกลางในลักษณะเช่นเดียวกับองค์กรความร่วมมืออื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป หากแต่ประกอบด้วยโครงสร้างองค์กรที่สำคัญๆ 2 ส่วน คือ
         2.1)   ส่วนที่เป็นกลไกการดำเนินงานในแต่ละปีซึ่งเป็นความรับผิดชอบของสมาชิกที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานของการประชุมปีนั้นๆ
          2.2)   ส่วนที่เป็นองค์กรกลางที่เรียกว่า สำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2535 เพื่อทำหน้าที่คล้ายกับเป็นเลขานุการให้การสนับสนุนสมาชิกที่เป็นประธานการประชุมเอเปค    ในแต่ละปี โดยที่ประธานการประชุมเอเปคจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกปี ทำให้ไม่สามารถติดตามความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง สำนักเลขาธิการเอเปคจึงเปรียบเสมือนหน่วยความจำ ภาคสถาบัน (institutional memory) เพื่อทำหน้าที่ติดตามประสานงานให้กิจกรรมความร่วมมือต่างๆ  มีความต่อเนื่องกัน ประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปคในปี 2545 และผู้อำนวยการบริหารในปี 2546 (ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากเป็นการดำเนินงานภายในของเอเปค)

 

สำหรับโครงสร้างองค์กรส่วนที่ 1  ประกอบด้วยกลไกการดำเนินการหลัก 6 ระดับ ได้แก่

  1. การประชุมผู้นำเศรษฐกิจ (Economic Leader’s Meeting) เป็นการประชุมระดับสูงสุดของเอเปคโดยมีผู้นำประเทศ รัฐบาลและเขตเศรษฐกิจของแต่ละสมาชิกเข้าร่วมประชุม จัดประชุมปีละ 1 ครั้ง ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ.1993) สำหรับประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ เจ้าภาพจะสลับกันไประหว่างสมาชิกจากกลุ่มอาเซียนและสมาชิก   นอกกลุ่มอาเซียน ในอัตรา 1 ต่อ 2 สำหรับสมาชิกเอเปคที่เป็นเจ้าภาพในปี 2557 คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน
  2. การประชุมรัฐมนตรี (Ministerial Meeting) เป็นการประชุมร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศ   และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้าประจำปี เจ้าภาพจัดการประชุมคือสมาชิกที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนั้น ประชุมปีละ 1 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2532 (ค.ศ.1989) สำหรับประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม
  3.  การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meetings – SOMs) โดยธรรมเนียมปฏิบัติจะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอย่างเป็นทางการ 3 ครั้งและไม่เป็นทางการ 2 ครั้ง (ในช่วงต้นของปีที่เข้ารับหน้าที่เป็นประธาน และช่วงปลายปีก่อนการประชุมรัฐมนตรีเอเปค) สำหรับประเทศไทยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม SOM ทำหน้าที่พิจารณา           การดำเนินการของเอเปคในทุกๆด้าน รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของกิจกรรมภายใต้คณะทำงาน            และกลุ่มทำงานต่างๆ ของเอเปค การบริหารงานของสำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat)            และงบประมาณสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของเอเปคเพื่อเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
  4. การประชุมรัฐมนตรีเอเปคในสาขาต่างๆ (Sectoral Ministerial Meetings) เอเปคจัดประชุมรัฐมนตรีรายสาขาตามวาระที่กำหนด ที่ผ่านมามีการประชุมรัฐมนตรีรายสาขา ได้แก่ ด้านการค้า            ด้านการศึกษา ด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการคลัง ด้านการพัฒนา       ทรัพยากรมนุษย์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ และด้านการขนส่ง
  5. คณะกรรมการ (Committees) เอเปคมี 4 คณะกรรมการหลัก ได้แก่

              5.1   คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment – CTI) เป็นเวทีปรึกษาหารือและติดตามการดำเนินการด้านการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้า     และการลงทุน

               5.2  คณะกรรมการเศรษฐกิจ (Economic Committee – EC) ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มและประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสมาชิกเอเปคเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน     ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของเอเปค รวมทั้งหารือแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ    ของสมาชิกเอเปค

              5.3  คณะกรรมการว่าด้วยงบประมาณและการบริหาร (Budget and Management Committee – BMC) มีบทบาทในการให้คำแนะนำต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคในด้านงบประมาณการบริหารและการจัดการ ประเทศไทยดำรงตำแหน่งรองประธาน BMC ในปี 2546 และประธานในปี 2547

              5.4  คณะกรรมการอำนวยการของเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (SOM Steering Committee on Economic and Technical Cooperation – SCE) ซึ่งปรับเปลี่ยนจากคณะกรรมการของเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (SOM committee on ECOTECH – ESC) ตามมติที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 13 ที่เมืองปูซาน SCE มีบทบาทในการประสานและกำหนดกรอบนโยบายด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Economic and Technical Cooperation – ECOTECH) รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

  1. คณะทำงาน (Working Groups) เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาประเด็น เฉพาะด้าน ในขณะนี้เอเปคมีคณะทำงานที่รับผิดชอบด้านต่างๆ ดังนี้

             – การส่งเสริมการค้า (Trade Promotion)

             – วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Science and Technology)

             – การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development)

             – พลังงาน (Energy)

             – โทรคมนาคมและสารสนเทศ (Telecommunications and Technology)

             – ประมง (Fisheries)

             – การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (Marine Resources Conversation)

             – การขนส่ง (Transportation)

             – ความร่วมมือทางเทคนิคการเกษตร (Agricultural Technical Cooperation)

             – การท่องเที่ยว (Tourism)

            – วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

           นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานหรือกลุ่มทำงานเฉพาะกิจในด้านอื่นๆ อาทิ คณะทำงาน     เฉพาะกิจด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism Task Force) กลุ่มทำงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce Steering Group) และเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อประมานงานด้านสตรี         (Gender Focal Point Network) เป็นต้น

  1. งบประมาณ งบประมาณการดำเนินงานหลักของเอเปคในแต่ละปีมาจากเงินสนับสนุนของสมาชิกตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ สำหรับไทยมีพันธกรณีที่จะต้องจ่ายค่าบำรุงประจำปีแก่      เอเปคทุกปี ในอัตราร้อยละ 1.5 ของเงินค่าบำรุงของเอเปคทั้งหมด โดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็ได้รับประโยชน์กลับคืนมาในรูปของการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เสนอโดยไทย เป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าบำรุงหลายเท่าทุกปี
  2.  บทบาทของภาคเอกชน นอกเหนือจากกลไกหลักของภาคราชการแล้ว เอเปคยังมีกลไกที่สำคัญของภาคเอกชน คือ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC)             ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้นำฯ ในการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีและอำนวย       ความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคประกอบด้วยสมาชิก 63 ราย           ที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 คนต่อเขตเศรษฐกิจ ในส่วนของไทยประกอบด้วยผู้แทนจากสภาหอการค้าไทย ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมไทย และผู้แทนจากสมาคม        ธนาคารไทยเป็นผู้แทนไทยในสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจจะจัดการประชุม            ปีละ 4 ครั้ง เพื่อหารือในหมู่นักธุรกิจภาคเอกชนและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำ           ในช่วงปลายปี

           อนึ่ง นอกจากการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปีแล้ว ภาคเอกชนยังได้จัดกิจกรรมสำคัญคือ การประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) ในช่วงเดียวกับการจัดประชุมผู้นำเอเปคเพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของเอเปคจำนวนกว่า 500 คน                  จาก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยจะมีการเชิญบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้นำเอเปคหลายท่านขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นที่สนใจของที่ประชุม

 

  1. ความเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน :

            คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (APEC Human Resources Development Working Group: HRDWG) เป็นหนึ่งในคณะทำงานของเอเปคตามข้อ 6 ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2533 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค โดยผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ คณะทำงานฯยังมีบทบาทที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีทางการค้า และการอำนวยความสะดวกในการค้าและการลงทุน (เป้าหมายของ Bogor Declaration) งานของคณะทำงานฯ จะครอบคลุมประเด็นตั้งแต่เรื่อง การศึกษา แรงงานและการคุ้มครองทางสังคม และการเสริมสร้างสมรรถนะ โดยผ่าน 3 เครือข่าย ได้แก่

            3.1 เครือข่ายด้านการเสริมสร้างสมรรถนะ (Capacity Building Network: CBN) มีเป้าหมายในการส่งเสริมสมรรถนะของทุนมนุษย์และตลาด โดยผ่านการปรับปรุงกระบวนการผลิต การปรับตัวและการเสริมสร้างสมรรถนะของบริษัท การพัฒนาทักษะและการบริหารจัดการ รวมทั้ง corporate governance    ในธุรกิจภาครัฐ และเอกชนของประเทศสมาชิกเอเปค (กระทรวงอุตสาหกรรมเป็น focal point)

            3.2  เครือข่ายด้านการศึกษา (Education Network: EdNet) มีเป้าหมายในการปรับปรุงระบบการเรียนรู้ ส่งเสริมการศึกษาเพื่อทุกคน เสริมสร้างบทบาทของการศึกษาในการปรับปรุงสังคมและบุคคล รวมทั้ง        การพัฒนาเศรษฐกิจ (กระทรวงศึกษาธิการเป็น focal point)    

            3.3  เครือข่ายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม (Labour and Social Protection Network : LSPN)  มีเป้าหมายในการส่งเสริมสมรรถนะของทุนมนุษย์ ความกลมกลืนทางสังคม และตลาดแรงงานที่เข้มแข็ง (กระทรวงแรงงานเป็น focal point)

            ยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่คณะทำงานฯให้ความสำคัญ ได้แก่

  • การพัฒนาทักษะเพื่อทุกคนสำหรับศตวรรษที่ 21
  • การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก
  • การตระหนักถึงมิติทางสังคมในยุคโลกาภิวัตน์

 

            ในส่วนการบริหารจัดการ จะมี Lead Shepherd ซึ่งเลือกจากประเทศสมาชิก โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และทำงานร่วมกับ Network Coordinators ของเครือข่ายทั้ง 3 เครือข่าย โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปีเช่นกัน คณะทำงานฯจะมีการประชุมปีละ 1 ครั้ง เพื่อหารือและให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงาน และโครงการที่ประเทศสมาชิกเสนอในแต่ละปีเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนเอเปค
โดยในระหว่างการประชุมคณะทำงานฯจะมีการประชุมของเครือข่ายทั้ง 3 เครือข่ายด้วยเพื่อหารือแผนการดำเนินงานและคัดเลือกโครงการที่เครือข่ายจะให้การสนับสนุน เพื่อให้ที่ประชุมคระทำงานฯพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

            กระทรวงแรงงานมีความร่วมมือกับเอเปคในเรื่องแรงงาน โดยการเป็นสมาชิกของคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เอเปค (APEC Human Resource Development Working Group : APEC HRDWG) ในเครือข่ายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม (LPSN) ดังกล่าว

           นอกเหนือจากการประชุมประจำปีของคณะทำงานฯแล้ว ยังมีการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่

  • การประชุมรัฐมนตรีด้านศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แทนของประเทศไทย)
  • การประชุมรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (กระทรวงแรงงานเป็นผู้แทนประเทศไทย)

           ที่ผ่านมามีการประชุมรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมทุกครั้ง การประชุมครั้งที่ 6 จัดขึ้นในปี 2557 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

  1. ผลการดำเนินงาน :

กระทรวงแรงงานเข้าร่วมกิจกรรมของเอเปคเป็นประจำทุกปีใน 2 ลักษณะ คือ การให้ข้อมูล และการเข้าร่วมการประชุม ดังนี้

          4.1  การประชุมสุดยอดผู้นำ (APEC Summit) และการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงแรงงานมีบทบาทในการเตรียมการสารัตถะสำหรับการประชุม
หากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน

          4.2  การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบและกระทรวงแรงงานมีบทบาทในการเตรียมสารัตถะสำหรับการประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เมื่อมีวาระที่เกี่ยวข้อง

         4.3  เข้าร่วมเครือข่ายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม (Labour and Social Protection Network) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (APEC Human Development Working Group   : HRDWG) ที่กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของเครือข่าย LSPN ในส่วนของประเทศไทย โดยมีบทบาทในการเข้าร่วมประชุมประจำปีของคณะทำงานฯและเครือข่าย (ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกัน) ร่วมกับประเทศสมาชิกพิจารณาคัดเลือกโครงการต่างๆที่จัดทำโดยประเทศสมาชิกภายใต้เครือข่าย LSPN เพื่อดำเนินการ และขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากเอเปค รวมทั้งเข้าร่วมในกิจกรรมของโครงการเหล่านั้น

          4.4  การประชุมรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRDMM) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุก 4 ปี เพื่อหารือในประเด็นด้านแรงงานและสวัสดิการสังคมที่กำหนดขึ้นสำหรับการประชุมในแต่ละครั้ง รวมทั้งกำหนดแผนการดำเนินงานในรอบ 4 ปีต่อไป โดยกระทรวงแรงงานมีบทบาทในการเข้าร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ 6) จัดขึ้นที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

  1. สถานะล่าสุด :

                การประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และผู้แทนกระทรวงแรงงานได้เข้าร่วมการประชุมหารือด้านนโยบายระดับสูง ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค เรื่อง‘การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล’ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

———————————————————–

จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน

สิงหาคม 2561

 

[1] ในบริบทของเอเปคจะใช้คำว่า “เขตเศรษฐกิจ (economy) แทนคำว่า “ประเทศ” เนื่องจากสมาชิกของเอเปคสองราย คือ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และจีนไทเป มิได้มีสถานะเป็นประเทศ แต่ได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกในฐานะที่เป็น     เขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

491
TOP