ข้อมูล CLMTV
ภูมิหลัง
สืบเนื่องจากความต้องการตลาดแรงงานในประเทศไทย อันเป็นผลที่เกิดมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและ SMEs ที่รวดเร็วและต่อเนื่องของไทย ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับ
ไร้ฝีมือ กึ่งฝีมือ และระดับทักษะฝีมือในทุกสาขาช่าง ประเทศไทยจึงเปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้ส่งออกแรงงานไปทำงานในต่างประเทศเป็นประเทศผู้รับเข้าแรงงาน โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยที่กระทรวงแรงงานได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการขึ้นทะเบียนและปรับสภาพแรงงานเหล่านี้ให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการเชิงรุกในการสนับสนุนการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจกับประเทศในกลุ่ม CLMV และสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดในกลุ่ม CLMTV ประเทศไทยโดยกระทรวงแรงงานจึงเห็นว่าควรมีการจัดการประชุมร่วมกันในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงานของทั้งห้าประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาด้านแรงงาน
และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในกลุ่ม CLMTV
กระทรวงแรงงานจึงได้ดำเนินการตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำโครงการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
- ส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างประเทศในกลุ่ม CLMV
- ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
- แลกเปลี่ยนความเห็น แนวคิดและประสบการณ์ด้านวิชาการในการพัฒนา
ด้านแรงงาน - ประสานความร่วมมือและสร้างกลไกป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
โดยมีรูปแบบการดำเนินการในลักษณะของการประชุม แบ่งเป็นการประชุมเตรียมการ การประชุมระหว่างประเทศระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และการประชุมระหว่างประเทศระดับรัฐมนตรี
กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีด้านแรงงาน CLMTV ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒ – ๔ กันยายน ๒๕๕๘ ณ กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมมีความเห็นพ้องว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาของทั้งประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่ง จึงควรมีการส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านแรงงานในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน การบริหารจัดการด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน ฯลฯ ทั้งนี้ การประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการถือเป็นหนึ่งช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ CLMTV โดยเป็นผลดีต่อการทำบันทึกความเข้าใจ (MOUs) ระหว่างกัน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีการทำ MOUs
ด้านแรงงานกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาอยู่ก่อนแล้ว ผลจากแนวคิดการจัดประชุม
ความร่วมมือเชิงวิชาการยังส่งผลให้กระทรวงแรงงานลงนามใน MOUs และข้อตกลง (Agreement)
ว่าด้วยการจ้างงานกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามด้วย
การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน CLMTV ครั้งที่ ๒ ภายใต้หัวข้อ Safe Migration
เมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ขั้นตอนวิธีการ ตลอดจนการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้เกิดความร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล
การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน CLMTV ครั้งที่ ๓ และการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านแรงงาน CLMTV ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงาน ทุพพลภาพ และสวัสดิการสังคม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
โดยสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ รับรองปฏิญญาร่วม CLMTV ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายผ่านข้อตกลงทวิภาคี แก้ไขสาเหตุการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไม่ปกติและแรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นระบบ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนคนทั่วไป คนหางาน คนงาน นายจ้าง บริษัทจัดหางาน ฯลฯ การพัฒนาหลักสูตรสำหรับอบรมก่อนเดินทาง และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบและส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัยจากประเทศต้นทางมายังประเทศปลายทาง
๒. ประเด็นการประชุมล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน มีดังนี้
– การประชุมตามระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน CLMTV ครั้งที่ 4 ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เน้นประเด็นการขยายความคุ้มครองทางสังคมในเรื่องประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวในกลุ่มประเทศ CLMTV และการบูรณาการมาตรฐานด้านแรงงานของ ILO เข้ากับกลไกในระดับประเทศเพื่อส่งเสริมนโยบายประกันสังคมของประเทศ CLMTV ให้เป็นไปตามาตรฐานสากล นโยบายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนโครงการ Study on Portability of Social Security for Migrant Workers in the ASEAN Region จะมีบทบาทในการนำเสนอที่ประชุมเพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติที่ดี และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนโครงการ
———————————–
จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน
สิงหาคม 2561