โครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย (Responsible Supply Chains in Asia)
ดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 – เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 (3 ปี) ในพื้นที่ 6 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา และไทย มีสหภาพยุโรปและ OECD เป็นผู้ให้ทุน และ ILO เป็นผู้ดำเนินการหลัก ซึ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการ และพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน โดยในส่วนของประเทศไทยจะเน้นภาคชิ้นส่วนยานยนต์และภาคเกษตร ในส่วนของประเทศไทยได้มีการส่งเสริมให้สถานประกอบการนำมาตรฐานแรงงาน (Thailand Labour Standards: TLS) และแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) มาใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อขจัดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สถานประกอบการ
เครื่องมือและแนวปฏิบัติเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอเป็นองค์กรกลางที่ประสานงานให้รัฐบาล นายจ้างและแรงงานจาก 187 ประเทศสมาชิกร่วมกันสร้างมาตรฐานแรงงาน พัฒนานโยบายและจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและความยุติธรรมทางสังคมสำหรับหญิงและชายทุกคน ไอแอลโอได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อเป็นแนวทางให้กับรัฐบาลและธุรกิจในการทำงานเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันโดยหนึ่งในเครื่องมือนั้นคือปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติ
1) ปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติ (MNE DECLARATION)
ปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติและนโยบายทางสังคม (“ปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติ” หรือ “MNE Declaration”) เป็นตราสารฉบับเดียวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่สื่อสารโดยตรงกับบริษัทต่างๆ นอกเหนือจากภาครัฐบาล องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง ปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติ (MNE Declaration) สะท้อนฉันทามติของฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และแรงงานในประเด็นที่สำคัญห้า ประการที่ธุรกิจจะสามารถมีบทบาทในการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวกได้สูงสุด ได้แก่ นโยบายทั่วไป การจ้างงาน การอบรม สภาพการจ้างและการดำรงชีพ และแรงงานสัมพันธ์ ปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติตระหนักถึงบทบาทสำคัญของบรรษัทข้ามชาติ (MNEs) และรัฐบาล ตลอดจนแนวทางต่างๆ ที่องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างจะสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบเชิงบวกนี้ได้ ปฏิญญาให้แนวทางด้านแรงงานและประเด็นทางสังคมที่มีรายละเอียดครบถ้วนแก่บริษัทโดยเน้นหนักไปที่ความสอดคล้องกันของนโยบายภาครัฐและเอกชนเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกสูงสุด นอกจากนี้ ปฏิญญายังส่งเสริมให้เกิดการเจรจาหารือระหว่างบรรษัทข้ามชาติ รัฐบาล องค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างว่าด้วยประเด็นที่เป็นข้อกังวลร่วมกันและอธิบายวิธีการให้รัฐบาลสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจได้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกมากที่สุด
สามารถดาวน์โหลดปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติ (MNE Declaration) ฉบับย่อและฉบับเต็มได้ที่ www.ilo.org/mnedeclaration
2) ศูนย์บริการธุรกิจว่าด้วยเรื่องมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
ศูนย์บริการธุรกิจของไอแอลโอ
ศูนย์บริการธุรกิจของไอแอลโอสามารถให้คำแนะนำถึงวิธีการในการปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการในปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติ ศูนย์บริการนี้ยังให้บริการช่วยเหลือธุรกิจเฉพาะรายในการตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจงและยังมีเว็บไซต์ซึ่งมีข้อมูลว่าด้วยเครื่องมือและทรัพยากร ต่างๆ ของไอแอลโอสำหรับภาคธุรกิจ
อยากรู้ไหมบริษัทอื่นซักถามในประเด็นเรื่องอะไร? เรามีคำตอบ คุณสามารถเข้าไปดูประเด็นข้อซักถามได้ในส่วน “คำถาม & คำตอบ” ในเว็บไซต์
อนุสัญญาและข้อแนะขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศได้ถูกใช้เป็นเอกสารอ้างอิงด้านแรงงานในจรรยาบรรณทางธุรกิจส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ของบริษัท ภาคอุตสาหกรรม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจรวมทั้งการจัดการห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในระดับโลก
มาตรฐานสากลว่าด้วยการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนฉบับอื่นๆ เช่น แนวทางของ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines for Multinational Enterprises ) หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Business and Human Rights Guiding Principles) และหลักการภายใต้ ข้อตกลงโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact Principles) ล้วนแต่นำสาระสำคัญจากปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศไปใช้ประกอบโดยตรงทั้งสิ้น
คุณจะนำพันธกรณีและหลักการเหล่านี้ไปปฏิบัติได้อย่างไร ศูนย์บริการธุรกิจของไอแอลโอช่วยให้คำตอบแก่คุณได้
เว็บไซต์ของศูนย์บริการธุรกิจของไอแอลโอเป็นช่องทางในการเข้าถึง ข้อมูลทั้งหมดของไอแอลโอที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการ โดยให้ ข้อมูลดังนี้
· ภาพรวมประเด็นแรงงานต่างๆ
· รวบรวมเครื่องมือและทรัพยากรของไอแอลโอที่ได้พัฒนาเพื่อให้ธุรกิจสามารถนำไปปฏิบัติได้
· รวบรวมคำตอบต่างๆ ของคณะผู้เชี่ยวชาญ โดยจัดแบ่งตามหัวข้อ
· ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรม การประชุม การสัมมนาผ่านอินเทอร์เน็ต (Webinars) และการอบรมของไอแอลโอ
หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ilo.org/business
หากมีข้อสงสัย กรุณาติดต่อทางอีเมล assistance@ilo.org หรือ โทรศัพท์ +41-22-799-6264
3) พื้นที่ในการพูดคุยที่เป็นกลางสำหรับบริษัทและสหภาพแรงงาน
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางส่งเสริมให้เกิดการเจรจาซึ่งเป็นพื้นฐานของปฏิญญาบรรษัทข้ามชาติ หากบริษัทและสหภาพแรงงานมีความประสงค์ที่จะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของไอแอลโอเหล่านี้เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลที่มีอยู่ร่วมกัน สามารถติดต่อศูนย์บริการได้ที่อีเมล assistance@ilo.org
4) คู่มือฝึกอบรมสำหรับ SMEs และ สถานประกอบการอื่นๆ เรื่อง มาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน (LABOUR STANDARDS IN GLOBAL SUPPLY CHAINS)
1138