Skip to main content

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

pll_content_description

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Association of Southeast Asian Nations: ASEAN)

ภูมิหลัง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งมี 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมามีประเทศสมาชิกเพิ่มเติมตามลำดับ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2527) เวียดนาม (วันที่ 28 กรกฎาคม 2538) ลาวและสหภาพพม่า (วันที่ 23 กรกฎาคม 2540) และกัมพูชา (วันที่ 30 เมษายน 2542) ปัจจุบันอาเซียนประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาเซียนมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 พ.ศ.2549 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้แสดงเจตนารมณ์โดยลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ ๒ (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เพื่อประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) ภายในปี พ.ศ.๒๖๖๓ (ค.ศ.๒๐๒๐) โดยมีเป้าหมายความร่วมมือ 3 ด้านสำคัญประกอบด้วย ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) โดยการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายทั้ง 3 ด้านของประชาคมอาเซียน เป็นสิ่งที่ต่อยอดจากความร่วมมืออาเซียนที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งมีการดำเนินงานใหม่ ๆ เพื่อตอบสนอง ความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น และต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามใน Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015 เร่งรัดการเป็นประชาคมฯ เร็วขึ้นอีก 5 ปี คือ จากปี พ.ศ.2563 เป็นปี พ.ศ.2558

กลไกลการทำงานของอาเซียน

1) การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ประกอบด้วย ประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจ หน้าที่ในการกำหนดนโยบายสูงสุดและแนวทางความร่วมมือของอาเซียน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญ โดย ให้ประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2 ครั้งต่อปี หรือเรียกประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจ เมื่อมีความจำเป็น

2) คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Councils: ACCs) ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ทำหน้าที่เตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานงานความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานงานระหว่าง 3 เสาหลัก ดูแลการดำเนินงานและกิจการต่างๆ ของอาเซียนในภาพรวม คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะมีการประชุมกันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี

3) คณะมนตรีประชาคมอาเซียน (ASEAN Community Councils) คณะมนตรีประชาคมอาเซียนประกอบด้วย คณะมนตรีประชาคม 3 เสาหลัก อันได้แก่คณะมนตรีการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นผู้แทน ที่ประเทศสมาชิกแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบแต่ละเสาหลัก มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานและติดตาม การทำงานตามนโยบาย โดยเสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมผู้นำ มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ประธานการประชุมเป็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมจากประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน

4) องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (ASEAN Sectoral Ministerial Bodies) องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (เช่น ด้านแรงงาน ด้านสาธารณสุข ด้านกลาโหม ด้านการศึกษา ฯลฯ) ประกอบด้วยรัฐมนตรีเฉพาะสาขา มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของประชาคมอาเซียน

5) สำนักเลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN and ASEAN Secretariat) สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2519 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างสมาคมอาเซียน คณะกรรมการ ตลอดจนสถาบันต่างๆ และรัฐบาลของประเทศสมาชิกสำนักเลขาธิการอาเซียน ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีเลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าสำนักงาน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และต้องได้รับเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกโดยหมุนเวียนตามลำดับ

6) คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN) คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน เป็นผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตที่แต่งตั้งจากประเทศสมาชิกให้ประจำที่สำนักงานใหญ่อาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับ รัฐมนตรีเฉพาะสาขา ประสานงานกับเลขาธิการสำนักงานอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา

7) สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ (ASEAN National Secretariat) เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวง การต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบประสานงาน สนับสนุนภารกิจและความร่วมมือต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียนในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยหน่วยงาน ที่รับผิดชอบ คือ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ

8) องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Body) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยความประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะทำงานและอำนาจหน้าที่จะได้กำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อไป

9) มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การดำเนินงานร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน

โครงสร้างอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียน

 

ความร่วมมือด้านแรงงานในกรอบอาเซียน

กระทรวงแรงงานดำเนินงานความร่วมมือในกรอบอาเซียนภายใต้กลไกบริหารหลัก 2 กลไกดังนี้

1) การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงาน (ASEAN Labour Ministers Meeting:ALMM) ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำกระทรวงแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ALM Work Programme) อาทิ การจ้างงาน การติดตามด้านตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม และความร่วมมือไตรภาคี เป็นต้น และพิจารณาให้ความร่วมมือระหว่างกันด้านแรงงานและกำลังคนในอาเซียน การประชุม ALMM จะจัดเป็นประจำทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิกจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามตัวอักษร เริ่มจากบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (ASEAN Senior Labour Meeting: SLOM) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหัวหน้าคณะผู้แทนเป็นระดับปลัดกระทรวงหรือรองปลัดกระทรวง หากปีใดมีการประชุมระดับรัฐมนตรี (ALMM) จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (SLOM) ก่อน การประชุม SLOM มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาประเด็นที่รัฐมนตรีแรงงานอาเซียนได้เสนอแนะให้ประเทศสมาชิกนำไปดำเนินการ ตลอดจนจัดเตรียมประเด็นเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนร่วมกับรัฐมนตรีแรงงานของจีน ญี่ปุ่น และธารณรัฐเกาหลี (ALMM+3) ซึ่งจัดทุก 2 ปีในช่วงเวลาเดียวกับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงานและการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนร่วมกับผู้แทนประเทศจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (SLOM+3) จะจัดทุกปีในช่วงเดียวกับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน

————————————————-

ข้อมูลอ้างอิง ๑. http://ประชาคมอาเซียน.net/structure
๒. เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ www.mfa.go.th

จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน
สิงหาคม 2561

 

การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน

(ASEAN Labour Ministers Meeting : ALMM)

 

ภูมิหลัง

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ทุนมนุษย์นับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม ด้วยกำลังแรงงานของอาเซียนมีจำนวนมากถึง 285 ล้านคน อาเซียน  จึงยอมรับความสำคัญของการสร้างงาน การพัฒนาคุณภาพของกำลังแรงงาน ตลอดจนการสร้างหลักประกันสังคมแก่ผู้ใช้แรงงาน

ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ การดำเนินงานของอาเซียนด้านแรงงานและทรัพยากรมนุษย์มีแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Minister (ALM) Work Programme) เป็นแนวทาง ซึ่งแผนงานนี้เป็นกรอบการทำงานเพื่อเตรียมกำลังแรงงานในภูมิภาคให้สามารถเผชิญกับความท้าทายของโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีทางการค้า โดยแผนงานจัดลำดับความสำคัญใน ๕ ประเด็น ได้แก่ การจ้างงาน การติดตามด้านตลาดแรงงาน การเคลื่อนย้ายแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม และความร่วมมือไตรภาคี และเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ รัฐมนตรีแรงงานอาเซียนได้เห็นชอบในแถลงการณ์ร่วม พ.ศ.๒๕๔๓ เพิ่มประเด็นที่ 6 เช่น ความปลอดภัยและ  ชีวอนามัย

นอกจากแผนงานรัฐมนตรีแรงานอาเซียนแล้ว อาเซียนเริ่มหยิบยกประเด็นเรื่องแรงงานต่างด้าว      เมื่อวันที่ 13 มกราคม ๒๕๕๐  หลังจากที่ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมแรงงานต่างด้าว ซึ่งปฏิญญาดังกล่าวได้มอบอำนาจให้ประเทศสมาชิกอาเซียนส่งเสริมความเท่าเทียมและการคุ้มครองการจ้างงานที่เหมาะสม การจ่ายค่าจ้าง และการเข้าถึงการทำงานที่มีคุณค่าและสภาพ       การดำรงชีพที่เพียงพอของแรงงานต่างด้าว เพื่อที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาฉบับนี้ คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ASEAN Committee on the implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers: ACMW) โดยจัดประชุมครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน         ๒๕๕๑ ซึ่ง ACMW อยู่ระหว่างการยกร่างตราสารอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงาน   ต่างด้าว โดยเริ่มหารือครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๒ ณ กรุงเทพมหานคร

 

โครงสร้างความร่วมมืออาเซียนด้านแรงงาน

การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers Meeting : ALMM) เป็นความพยายามของอาเซียนด้านแรงงาน ซึ่งจะจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๘ ณ กรุงจาการ์ตา ภายใต้ ALMM จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (Senior Labour Officials Meeting : SLOM) ซึ่งจะติดตามความคืบหน้าของการดำเนินแผนงาน ALM โดยมีคณะทำงานย่อย ๓ คณะ ดังนี้ 

๑. คณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ก้าวหน้าด้านแรงงานเพื่อเสริมสร้างการแข่งขันในอาเซียน (The  Senior Labour Officials  Meeting Working Group on Progressive Labour Practices to Enhance the Competitiveness of ASEAN : SLOM-WG) โดยก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ ในฐานะคณะทำงานเฉพาะกิจ และปรับโครงสร้างเป็นคณะทำงานถาวรภายใต้ SLOMเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ SLOM-WG  เน้นประเด็นความสำคัญในด้านต่างๆ  รวมทั้ง ทรัพยากรมนุษย์ ประกันสังคม แรงงานสัมพันธ์ การพัฒนาทักษะฝีมือและเครือข่าย การรับรองทักษะฝีมือ กฎหมายแรงงาน สถิติแรงงาน และงานที่มีคุณค่า

๒. คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ASEAN Committee on the implementation of the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers: ACMW)

คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นเพื่อติดตามการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้านได้แก่

     ๒.๑ ผลักดันการคุ้มครองและส่งเสริมแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายเพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์

และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

      ๒.๒ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่การคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าวโดยส่งเสริม

การบริหารจัดการเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานด้านแรงงานในประเทศสมาชิกในอาเซียน

      ๒.๓ สร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียนโดย

ทำงานร่วมกับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ

      ๒.๔ พัฒนาตราสารอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว

๓. เครือข่ายด้านความปลอดภัยและชีวอนามัยอาเซียน (ASEAN Occupational Safety and Health Network : OSHNET) เป็นคณะทำงานที่มีการดำเนินงานมาอย่างยาวนานของ SLOM ซึ่งเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐ ปีเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒  OSHNET มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการปรับปรุงด้าน    ความปลอดภัยและอนามัยในสถานประกอบการของภูมิภาคอาเซียน และเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลด้านมาตรฐานความปลอดภัยและชีวอนามัย การฝึกอบรม การวิจัย  การตรวจสอบและกรอบแผนงานระดับชาติ ซึ่งสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.aseanoshnet.org

ด้วยความร่วมมือกับหุ้นส่วนการหารืออาเซียน กิจกรรมและการศึกษาต่างๆ มีทั้งเสร็จสิ้นลงและกำลังดำเนินการหรือกำลังเตรียมการโดยอาเซียน อาเซียนดำเนินงานร่วมกับหุ้นส่วนการหารือในสาขาความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ ด้านแรงงานสัมพันธ์  การคุ้มครองทางสังคม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งกิจกรรมร่วมที่กำลังดำเนินการภายใต้การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Labour Ministers’ Meeting : ALMM+3) ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ภายใต้กรอบแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (บวกสามประเทศ)

          สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ILO และอาเซียนดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖ โดยมีความริเริ่มและโครงการร่วมหลากหลายด้าน  ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียนและ ILO ได้เริ่มเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๐

 

พัฒนาการสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน

20th ALMM     กระทรวงแรงงานของไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑              ณ กรุงเทพมหานคร  โดยหัวข้อหลักในการประชุมคือ การส่งเสริม ปรับปรุง เพื่อนำไปสู่การมีงานทำที่มีคุณค่าให้กับกลุ่มแรงงานที่เสียเปรียบ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกได้มีหารือในประเด็นการส่งเสริมการมีงานทำที่มีคุณค่าแก่กลุ่มแรงงานที่ด้อยโอกาส/เสียเปรียบ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งการจัดทำแผนงาน/กิจกรรม/โครงการที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

21st ALMM     กระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพและกิจการสังคมของเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม   เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ณ กรุงฮานอย โดยหัวข้อหลักการประชุมคือทรัพยากรมนุษย์เพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนา ในการประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีแรงงานอาเซียนเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูอาเซียนหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก เน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการระยะกลางและระยะยาวเพื่อยกระดับคุณภาพของกำลังแรงงานโดย

ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน และให้การรับรองแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๘) ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับความร่วมมือเพื่อสนับสนุน    การบรรลุประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ และวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนที่มุ่งมั่นให้ประชาชน      ในอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการจ้างงานและได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ  นอกจากนี้รัฐมนตรีให้  ความเห็นชอบในเรื่องดังนี้ การดำเนินงานตามแผนงาน ALM เพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานโดยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อดึงดูดกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือ การพัฒนากรอบแผนงานระดับชาติเพื่อรับรองทักษะฝีมือแรงงาน อีกทั้งยืนยันให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างด้าว เห็นด้วยต่อการตัดสินใจของ SLOM ในเรื่องการแบ่งกรอบระยะเวลาการหารือเกี่ยวกับร่างตราสารอาเซียน    ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างด้าว และการเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วม   การหารือในคณะร่างตราสารฯ

22nd ALMM     กระทรวงแรงงานและฝึกอบรมวิชาชีพของประเทศกัมพูชาจัดการประชุมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ กรุงพนมเปญ  การประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนทุกประเทศยกเว้นบรูไน  และเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนเข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานและกรอบการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น การดำเนินการพิมพ์เขียวประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนด้านแรงงานการดำเนินงานตามแผนงานรัฐมนตรีแรงงาน (พ.ศ.๒๕๕๕๓-๒๕๕๘)  และรับทราบถึงพันธกิจในการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว โดยให้ความเห็นชอบต่อขอบเขตและกรอบการหารือเพื่อยกร่างตราสารอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ที่ประชุมสนับสนุนให้เครือข่ายอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของอาเซียน (ASEAN-OSHNET)     ขยายความร่วมมือไปยังหุ้นส่วนทางสังคมอื่น ๆ ด้วย  และได้มอบหมาย SLOM-WG  ดำเนินการตามแผนงานประจำปี ๒๕๕๓-๒๕๕๘ รวมทั้งรับรองแผนการดำเนินงานของ SLOM-WG-HIV Work Plan ประจำปี   ๒๕๕๔-๒๕๕๘ ซึ่งเป็นแนวทางแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินความพยายามร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเอชไอวีและเอดส์ในสถานประกอบการ สุดท้ายที่ประชุมเน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกให้ความlสำคัญต่อการเจรจาหารือกับหุ้นส่วนไตรภาคีและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของทักษะฝีมือและความสามารถในการแข่งขันของทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และทำให้มั่นใจว่าแรงงานจะได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทั่วถึงและยั่งยืน รวมทั้งมีการปรับปรุง    อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

23rd ALMM  กระทรวงแรงงาน การจ้างงานและประกันสังคมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ เมืองเนปิดอร์ ประกอบด้วยรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ผู้แทนจากกระทรวงแรงงานของจีน เกาหลีใต้และญึ่ปุ่น รวมทั้ง     รองเลขาธิการอาเซียน ASCC เข้าร่วมการประชุม โดยมีหัวข้อหลักในการหารือคือ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของกำลังแรงงานเพื่อสถานประกอบการที่ก้าวหน้ามีความสมานฉันท์และความรุ่งเรือง ที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเน้นย้ำการสร้างความสามารถในการแข่งขันของกำลังแรงงานอาเซียนเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปีหน้า โดยร่วมหารือในประเด็นข้อมูลตลาดแรงงาน    การพัฒนาฝีมือแรงงาน skill mismatch การเรียนรู้ตลอดชีวิต การยอมรับทักษะฝีมือและคุณวุฒิแห่งชาติ     ที่ประชุมรัฐมนตรีฯขอให้ประเทศสมาชิกร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนการหารือ องค์การระหว่างประเทศ หุ้นส่วนไตรภาคีเพื่อพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ นอกจากนี้ที่ประชุมรัฐมนตรีฯสนับสนุนการจัดทำวิสัยทัศน์หลังการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน พ.ศ.๒๕๕๘ (Post 2015 vision) จึงขอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อทำให้วิสัยทัศน์อาเซียนในการสร้างคุณภาพชีวิตและงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน การจ้างงาน กำลังแรงงานที่สามารถแข่งขันได้ และได้รับการคุ้มครองทางสังคม สำหรับการประชุม ALMM ครั้งถัดไปจะจัดที่ลาวในปี พ.ศ.๒๕๕๙  และการประชุม SLOM และ SLOM+3 จะจัดที่ประเทศมาเลเซียในปี้นี้

24th ALMM     กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ กรุงเวียงจันทน์  โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ผู้ช่วยรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงแรงงาน เอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน + ๓ รวมทั้งรองเลขาธิการอาเซียน  โดยการประชุมมีหัวข้อหลักคือ การเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบเพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมงานที่มีคุณค่าในอาเซียน  ซึ่งที่ประชุม 24 th ALMM ให้การรับรองเอกสารอาเซียนและแผนงานอาเซียนจำนวน ๙ ฉบับดังนี้     ๑) หลักการเกี่ยวกับแนวทางอาเซียนสำหรับการรับรองคุณวุฒิและการยอมรับระบบรับรองสมรรถนะ ๒) กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน : ธรรมาภิบาลและโครงสร้าง ๓) เอกสารเกี่ยวกับแนวทางอาเซียนสำหรับความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน ๔) เอกสารแนวทางอาเซียนเกี่ยวกับการปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับสถานประกอบการด้านการ

ป้องกันและการบริหารจัดการเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีเอดส์ ๕) ปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบเพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมงานที่มีคุณค่าในอาเซียน ๖) แผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ๒๐๑๖-๒๐๒๐ (ALM’ Work Programme 2016-2020) ๗) แผนงานคณะทำงานอาวุโสแรงงานอาเซียนว่าด้วยแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ก้าวหน้าเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ๒๐๑๖-๒๐๒๐  ๘) ร่างแผนงานคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว ๒๐๑๖-๒๐๒๐  ๙) แผนปฏิบัติการเครือข่ายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอาเซียน

สำหรับการประชุมครั้งถัดไปมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี พ.ศ.๒๕๖๑

——————————————-

จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน

สิงหาคม 2561

 

TOP