- ความเป็นมา
แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT – GT) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้เห็นชอบการผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคีเพื่อเร่งรัดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ยังด้อยพัฒนาบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ภาคเหนือของมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าว ก่อนที่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศจะให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม พ.ศ. 2537
แผนงาน IMT – GT เน้นความร่วมมือในหลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านการค้าและการลงทุน, ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, ด้านการท่องเที่ยว, ด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเชื่อมต่อการขนส่ง, ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ ด้านการผลิตและให้บริการฮาลาล โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การพัฒนาในเขตจังหวัดพื้นที่ทางตอนใต้ โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
- ส่วนภูมิภาคที่เป็นสมาชิก(รัฐและจังหวัดต่างๆ ในสามประเทศ)
ภายหลังจากการก่อตั้ง แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย ได้ขยายขอบเขตทั้งในทางภูมิศาสตร์และโครงการความร่วมมือต่างๆ จนครอบคลุมประชากรกว่า 70 ล้านคน ในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์และมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาที่คล้ายคลึงกัน โดยส่วนภูมิภาคที่เป็นสมาชิกในปัจจุบัน ประกอบด้วย 14 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย 8 รัฐในคาบสมุทรมลายู (ปะลิส, เคดาห์, ปูลัวปีนัง, เปรัค, เซลังกอร์, กลันตัน, มะละกา, เนอเกอรีเซมบีลัน) และ 10 จังหวัดบนเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย (อาเจะฮ์, สุมาตราเหนือ, สุมาตราตะวันตก, เรียว, จัมบี, สุมาตราใต้, เบิงกูลู, บังกา-เบลีตัง, เกาะเรียว, ลัมปุง)
- วัตถุประสงค์
แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ผ่านการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและขีดความสามารถของทั้ง 3 ประเทศ ควบคู่ไปกับการช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นการผลิตสินค้าและบริการในกลุ่มผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันในตลาดโลกให้กับสินค้าส่งออกจากประเทศสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจส่วนรวมของภูมิภาคบนพื้นฐานของการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ แผนงาน IMT-GT ยังเป็นกรอบความร่วมมือที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาประเทศด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การประมง และการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย นโยบายการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมของมาเลเซีย และนโยบายการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคของไทย
- กลไกการดำเนินงาน
แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย มีกลไกการดำเนินงานที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
4.1 การประชุมสุดยอดผู้นำ (Leaders’ Summit) เป็นการประชุมระดับผู้นำสูงสุดของประเทศสมาชิกเพื่อตัดสินใจด้านนโยบายและกำหนดทิศทางความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย
4.2การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministers’ Meeting : MM) เป็นหน่วยงานประสานที่มีความสำคัญอันดับสองในการกำหนดทิศทางและหารือด้านนโยบายที่สำคัญ ตลอดจนพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือต่าง ๆ และสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนก่อนนำเสนอที่ประชุมผู้นำสูงสุด
4.3 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting : SOM) เป็นการประชุมเพื่อประสานงานของแผนงานในทุกภารกิจและรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดจนประสานงานและให้นโยบายต่อคณะทำงานต่างๆ เพื่อรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรี
4.4 การประชุมคณะทำงาน (Working Groups) เป็นกลไกเพื่อการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการนำแผนการและโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ไปปฏิบัติ จัดเตรียมแผนดำเนินงานเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ภายใต้ Roadmap ตลอดจนประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council) และความคืบหน้าของแผนงานในความรับผิดชอบให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสทราบ
4.5 ศูนย์ติดตามผลและประสานงาน (Coordinating and Monitoring Center : CMC) ทำหน้าที่จัดทำรายงานเสนอที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เป็นศูนย์กลางในการติดตามและประสานงานกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย และประสานงานและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานตามมาตรการภายใต้ Roadmap กับผู้ที่เกี่ยวข้อง
4.6 สำนักงานเลขาธิการแห่งชาติ (National Secretariat) ทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมดำเนินงานในระดับชาติกับศูนย์ติดตามผลและประสานงาน โดยประสานงานภายในแต่ละประเทศสมาชิก เป็นศูนย์ข้อมูลและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการภายใต้ความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย
4.7 สภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council : JBC) เป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ภาครัฐ เสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์กรภาคธุรกิจในกรอบความร่วมมือเขตเศรษฐกิจ และเป็นผู้ให้คำปรึกษาหารือด้านนโยบาย แผนงาน โครงการ รวมทั้งสนับสนุนด้านกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
- ความร่วมมือในแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย
5.1 สาขาการค้าและการลงทุน ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศในโครงการ โดยการเร่งรัดปรับปรุงกฎระเบียบที่แตกต่างกัน ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างของระบบภาษีให้เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน
5.2 สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม โดยเร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่การผลิตของทั้งสามประเทศ ให้มีความสะดวกมากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบ ขั้นตอนทางศุลกากรและการผ่านแดน
5.3 สาขาการท่องเที่ยว พัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทั้งภายในและจากต่างประเทศ โดยส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเน้นด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีสมาคมการท่องเที่ยวของสามประเทศ เป็นศูนย์กลางประสานงาน
5.4 สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นศึกษาแนวทางพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมร่วมกัน ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการผลิต และจะครอบคลุมถึงแนวทางการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานระหว่างสามประเทศ
5.5 สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการผลิตร่วมกันของอุตสาหกรรม สนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรร่วมกัน โดยรัฐกำหนดมาตรการจูงใจเป็นพิเศษ และการดำเนินแผนงานการพัฒนาธุรกิจประมงร่วมกัน
5.6 สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล โดยมีโครงการความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลโลจิสติกส์ฮาลาลความเร็วสูงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาลร่วมความเร็วสูง การพัฒนาการค้าอิเล็กทรอนิกส์ฮาลาล การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลปาเลมัส และท่าเรือประมงต๊อกบาลี ในรัฐกลันตัน มาเลเซีย เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวฮาลาล เป็นต้น
- ความเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน
แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่ายในสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาแนวทางเพื่อพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมร่วมกัน การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการผลิต การผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานในสามประเทศ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่มีความสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงแรงงาน ดังนั้น กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถือเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักในการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาและวิชาชีพพิเศษ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาต่างๆที่จะมีขึ้นในอนาคตในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดฝึกอบรมหลักสูตรช่างเชื่อมเหล็กใต้น้ำ (Training of Trainers on Underwater Cutting and Welding) โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 สงขลา จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นของมาตรฐานฝีมือแรงงานของทั้งสามประเทศ ในธุรกิจสปา และการเชื่อมโลหะ ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้
………………………………………………………………..
จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน
สิงหาคม 2561