Skip to main content

ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์

pll_content_description

 

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางสาวภัทรพร สมันตรัฐ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร ๒ วัน เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ โดยโครงการ ATLAS ในองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ภายใต้การสนับสนุนทางด้านวิชาการและงบประมาณจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ณ โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับ Tier 2 ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๖๓ (TIP Report 2020) จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ติดต่อกัน ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๓ และได้รับการจัดอันดับการแก้ปัญหาแรงงานเด็กในระดับความสำเร็จปานกลาง (Moderate Advancement) ตามรายงานสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) ประจำปี ๒๕๖๒ จากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา
สถานการณ์การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ มีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจไปทั่วโลก เช่น อัตราว่างงานที่สูงขึ้นและทวีความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงเป็นความท้าทายที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานระหว่างประเทศ ต้องร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะ รูปแบบ และวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไป
รัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ โดยได้ประกาศการต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดเป้าหมายหลัก คือ ประเทศไทยสามารถป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ได้อย่างยั่งยืน มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการดำเนินงานตามหลักมาตรฐานสากลที่เรียกว่า 5 P ประกอบด้วย ๑) Policy ด้านนโยบาย ๒) Prevention ด้านการป้องกัน ๓) Prosecution ด้านการดำเนินคดี ๔) Protection ด้านการคุ้มครอง และ ๕) Partnership ด้านความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย
กระทรวงแรงงานยังเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ผ่านคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมกันพัฒนาและยกระดับการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของไทยให้ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการขจัดการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ (พ.ศ. ๒๕๖๘) จะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงแรงงาน ได้มีความพยายาม และให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ โดยกำหนดนโยบายในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศที่สำคัญ ล่าสุด ได้แก่ พิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญาฯ ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ปี ค.ศ.๑๙๓๐ หรือ P29 เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ. ๒๐๐๗ หรือ C188 เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๒ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายให้สูงขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพตรวจแรงงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มีความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียน ตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว รวมถึงโครงการความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ (TRIANGLE in ASEAN) โครงการความปลอดภัยและยุติธรรม: สิทธิและโอกาสของแรงงานต่างด้าวสตรีในภูมิภาคอาเซียน (Safe & Fair) โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to shore rights project) เป็นต้น และที่สำคัญ คือ โครงการ ATLAS ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา โดยการดำเนินการขององค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจัดกิจกรรมในวันนี้
นางสาวภัทรพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ นับเป็นอีกความร่วมมือที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ จากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากคณะวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับนิยามของแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ ภายใต้กรอบกฎหมาย และมาตรฐานระหว่างประเทศ วิธีการระบุพิสูจน์ และการคัดแยกผู้เสียหายที่เป็นแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ รวมถึงเทคนิคการสืบสวนสอบสวน และการสัมภาษณ์ ซึ่งล้วนมีความสำคัญยิ่งและเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานเพี่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ และขอให้การอบรมครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ขอให้ผู้เข้ารับการอบรมซักถามหากมีประเด็นที่สงสัย เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการอบรมซึ่งเป็นภาคีในการทำงานร่วมกัน จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำงานและถ่ายทอดให้แก่บุคลากรภายในหน่วยงานเพื่อเพิ่มศักยภาพอย่างบูรณาการในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ในประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

TOP