Skip to main content

ปลัดแรงงาน เปิดการประชุม Strengthening Social Dialogue Policy and Practices: Constituents Review of Social Dialogue & Tripartite Mechanism in Thailand

pll_content_description

 

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุม Strengthening Social Dialogue Policy and Practices: Constituents Review of Social Dialogue & Tripartite Mechanism in Thailand ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า การเจรจาทางสังคมและกลไกไตรภาคี เป็นหลักการสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด ภายใต้สัญลักษณ์ของเทวดาสามองค์ ซึ่งแสดงถึงการทำงานรวมกันในลักษณะองค์คณะไตรภาคี และบทบาทของกระทรวงแรงงานในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน และส่งเสริมงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

            อนุสัญญาฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ. 1976 เป็นหนึ่งในอนุสัญญาธรรมาภิบาล หรือ Governance Convention ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกการหารือในระดับไตรภาคี ระหว่างผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ในประเด็นของมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เช่น การตอบข้อสนเทศ และการให้ความเห็นต่อร่างเอกสารที่จะพิจารณาในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การจัดทำรายงานต่างๆ เกี่ยวกับอนุสัญญาที่ประเทศไทยให้สัตยาบัน และยังไม่ได้ให้สัตยาบัน การนำเสนออนุสัญญาและข้อเสนอแนะฉบับใหม่ต่อหน่วยงานผู้ทรงอำนาจภายในประเทศ รวมถึงการบอกเลิกอนุสัญญาที่ให้สัตยาบันแล้ว ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศในการศึกษาบทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับที่ 144 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพิจารณาให้สัตยาบัน โดยแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย พ.ศ. 2562 – 2564 ได้ระบุเป้าหมายในการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อส่งเสริมและบูรณาการมาตรฐานสำหรับอนุสัญญาฉบับที่ 144 และการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 144 แต่กระทรวงแรงงานมีกลไกไตรภาคีระดับชาติหลายคณะในหลายระดับ เช่น คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่มีบทบาทในการให้ความคิดเห็น และคำแนะนำ ในการกำหนดนโยบาย และกฎหมายในทุกบริบทของแรงงาน เช่น การจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน สวัสดิการ แรงงานสัมพันธ์ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องขอขอบคุณผู้แทนนายจ้างและลูกจ้าง สำหรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการประชุมทุกคณะ

            นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานได้จัดให้มีกระบวนการปรึกษาหารือ หรือแจ้งเวียนรายงานการอนุวัติการอนุสัญญาให้กับองค์กรผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เพื่อให้ความเห็นต่อการดำเนินการของรัฐบาลต่ออนุสัญญา และนำความเห็นดังกล่าวส่งต่อให้แก่ ILO เพื่อนำเสนอแก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการอนุวัติการอนุสัญญา พิจารณาตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้รับความร่วมมือจากผู้แทนนายจ้างและลูกจ้าง ให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรฐานแรงงานของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือร่วมใจในฐานะผู้แทนไตรภาคีของประเทศไทย ในการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าด้านแรงงานของประเทศไทย สู่สายตาชาวโลกในเวทีนานาชาติ เช่น การประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO ซึ่งจัดขึ้นทุกปี

            นายบุญชอบฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนไตรภาคีจะได้เรียนรู้ ทบทวน และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อท้าทายสำคัญในกลไกการเจรจาทางสังคม และแนวทางการพัฒนาแรงงานในอนาคต รวมถึงติดตามแผนการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่า เพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป

———————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

TOP