Skip to main content

รองปลัดแรงงาน“เดชา”ย้ำบทบาทกระทรวงแรงงานในการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue (ADD) ครั้งที่ 7 มุ่งคุ้มครอง ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อแรงงานทุกคน

pll_content_description

     วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ คณะผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue (ADD) ครั้งที่ 7 ณ โรงแรม Intercontinental Dubai Festival City เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

     สำหรับการประชุมในวันที่สอง ประกอบด้วย การประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue โดยมีพิธีกล่าวเปิดการประชุมโดยประธาน รัฐบาลปากีสถาน ซึ่งได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม ฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน และการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทักษะสีเขียวมีความสำคัญในการรองรับความท้าทายของงานในอนาคต และเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการสรรหาและการจ้างงาน รวมถึงมีระบบบริหารจัดการแรงงานอย่างครอบคลุมทุกด้าน อีกทั้งมีการกล่าวปาฐก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการจ้างงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะเลขาธิการการประชุม Abu Dhabi Dialogue การกล่าวปาฐก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการจ้างงานต่างประเทศ ประเทศศรีลังกา และการกล่าวโดยผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ADD

     นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของการโยกย้ายถิ่นฐานแรงงานระหว่างประเทศ และมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างแข็งขันผ่าน MOU ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และมีการกำหนดกรอบการดำเนินงานสำหรับการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อแรงงานทุกคน โดยประเทศไทยได้มีมาตรการเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงาน เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น ผ่านโครงการพัฒนาทักษะ Up-skill และ Re-skill ทั้งด้านวิชาชีพและด้านเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานสามารถปรับตัวได้ และเสริมสร้างขีดความสามารถในแข่งขันของประเทศ อีกทั้งยังมุ่งมั่นในการบูรณาการและเสริมสร้างให้แรงงานทุกเพศสภาพได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน และเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาอาชีพอย่างเสมอภาคกัน รวมถึงมีการใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเข้มแข็ง และส่งเสริมการคุ้มครองทางสังคมอย่างครอบคลุม มีการปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมการทำงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการหารือระหว่างกันในเวทีการประชุมของกรอบความร่วมมือ ADD เพื่อที่จะแบ่งปันประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อเสริมสร้างให้คุณภาพชีวิต ปกป้องสิทธิในการทำงาน และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับแรงงานทุกคนอีกด้วย

TOP