Skip to main content

ความร่วมมือในกรอบ Abu Dhabi Dialogue (ADD)

pll_content_description

  1. ความเป็นมา

          ความร่วมมือในกรอบ Abu Dhabi Dialogue (ADD) ก่อตั้งขึ้นในปี 2551เมื่อประเทศผู้ส่งออกแรงงานในเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก Colombo Process (CP) 11 ประเทศ ได้แก่อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย      และ เวียดนาม กับกลุ่มประเทศผู้รับแรงงานรวม 7 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน ได้ประชุมหารือร่วมกันในระดับรัฐมนตรี            ณ กรุง อาบู ดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในระหว่างวันที่ 21 – 22 มกราคม 2551 ภายใต้หัวข้อ การจ้างงานและแรงงานตามสัญญาจ้างสำหรับประเทศต้นทาง และประเทศปลายทางในเอเชีย(Ministerial Consultation on Overseas Employment and Contractual Labour for Countries of Origin and Destination in Asia)

          ภายหลังจากการประชุมได้มีการให้การรับรองปฏิญญา อาบู ดาบี ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศผู้รับ และ ประเทศผู้ส่งแรงงาน (Abu Dhabi Declaration of Asian Countries of Origin and Destination: Abu Dhabi Dialogue) เกิดเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก    ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาขีดความสามารถ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงาน ณ ประเทศปลายทาง เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงาน       ที่ไปทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราวเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศต้นทางที่ส่งออกแรงงาน (Countries of Origin) และประเทศปลายทางที่รับแรงงาน (Destination Countries)

 

  1. โครงสร้างและประเทศสมาชิก

          กรอบความร่วมมือ ADD ประกอบด้วยประเทศสมาชิก Colombo Process 11 ประเทศ(อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม) และ กลุ่มประเทศผู้รับแรงงานอื่น รวม 7 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต มาเลเซีย โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน โดยมีประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ เป็นผู้สังเกตการณ์ โดยมีองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization of Migration: IOM) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของกรอบความร่วมมือตั้งแต่การริเริ่มก่อตั้งในเดือนมกราคม 2551 จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน 2555 ทั้งนี้ เนื่องจากภายหลังจากการประชุมครั้งที่ 2 ได้มีการแต่งตั้งประเทศสมาชิกให้หมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานของกรอบความร่วมมือฯ โดยประเทศที่อยู่ลำดับถัดไปที่จะขึ้นมาทำหน้าที่เป็นประธานจะเป็นผู้ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ทำให้บทบาทของ IOM ต่อกรอบความร่วมมือ ADD เปลี่ยนมาเป็น ผู้สังเกตการณ์ และ ผู้เชี่ยวชาญแทน

 

  1. วัตถุประสงค์หลักของกรอบความร่วมมือ Abu Dhabi Dialogue
  • พัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในด้านแนวโน้มตลาดแรงงาน ข้อมูลทักษะฝีมือ นโยบายการจ้างงานชั่วคราว การส่งรายได้กลับประเทศ และ บทบาทของแรงงานเคลื่อนย้ายต่อการพัฒนาประเทศในภูมิภาค
  • เสริมสร้างสมรรถนะให้สอดรับกันระหว่างความต้องการแรงงานและจำนวนแรงงานที่มีอยู่
  • ป้องกันการจัดหางานที่ผิดกฎหมาย ส่งเสริมสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานชั่วคราวที่มีสัญญา01จ้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบแรงงานจากทั้งประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่ง
  • พัฒนากรอบการดำเนินงานเพื่อการบริหารจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานชั่วคราวที่มีสัญญาจ้างอย่างครบวงจร เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่ง

 

  1. การจัดประชุมรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue จนถึงปัจจุบันได้มีการจัดประชุมแล้ว 3 ครั้ง ดังนี้
    1. การประชุมครั้งที่1 จัดขึ้นในปี 2551 ณ กรุง อาบู ดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งถือเป็นการก่อตั้ง ADD โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายอภัย จันทนจุลกะ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งที่ประชุมได้ให้การรับรอง Abu Dhabi Dialogue Declaration of Asian Countries of Origin and Destination (Abu Dhabi Dialogue: ADD) ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงานใน 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมความรู้ในด้านแรงงาน การเสริมสร้างสมรรถนะ การป้องกันการจัดหางานที่ผิดกฎหมาย และ การพัฒนากรอบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงาน
    2. การประชุมครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2555 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ที่ประชุมได้ให้การรับรอง แถลงการณ์มะนิลา (Manila Communique) ซึ่งแสดงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือ และ ความเป็นหุ้นส่วนในการคุ้มครองแรงงานที่มีสัญญาจ้าง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้การรับรอง กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค (The Framework of Regional Collaboration: 2012) ซึ่งระบุถึงความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทาง และ ประเทศปลายทางในการพัฒนาและยกระดับความคุ้มครองแรงงาน และการจัดการวัฏจักรการเคลื่อนย้ายแรงงานให้มีประสิทธิภาพ
    3. การประชุมครั้งที่ 3 จัดขึ้นในปี 2557 ณ ประเทศคูเวต โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยที่ประชุมได้ให้การรับรองโครงสร้างและการดำเนินงานของ ADD (ADD Operating Modality) และ เห็นควรให้นำแนวปฏิบัติที่ดีและข้อเสนอเชิงลึกในด้านการเตรียมความพร้อมของแรงงานก่อนออกเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของประเทศสมาชิกไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน พร้อมกันนี้ ประเทศสมาชิกได้ให้การรับรอง Kuwait Declaration เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบ ADD ต่อไป
    4. การประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส Abu Dhabi Dialogue (ADD) ครั้งที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 พฤษภาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) แลกเปลี่ยนข้อมูลและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานตลอดกระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรม ปลอดภัยและ
      เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ และ 2) เพื่อรายงานความคืบหน้า
      การดำเนินการตลอดระยะเวลาหนึ่งปีของประเทศเจ้าภาพ ในการประชุมดังกล่าวที่ประชุมได้รับทราบถึงการดำเนินการทำเว็บไซต์ของกรอบความร่วมมือ ADD ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ Comprehensive Information and Orientation Program (CIOP) ซึ่งเป็น    โครงการจับคู่ความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ และทิศทางในอนาคตของการจ้างงานคนทำงานบ้านในประเทศกลุ่ม ในตอนท้ายที่ประชุมรับทราบกำหนดการประชุมระดับรัฐมนตรี ADD ระหว่างวันที่ 28 – 29 มกราคม 2562 ทั้งนี้ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องเจ้าภาพได้

——————–

จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน

สิงหาคม 2561

 

TOP