- การจัดตั้งองค์การ
IOM มีฐานะเป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 หลังจากการประชุมนานาชาติ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เดิมใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐานในยุโรป” (International Committee for European Migration – ICEM) มีวัตถุประสงค์แต่เริ่มแรกเพื่อช่วยเหลือขนย้ายผู้พลัดถิ่น อันเนื่องมาจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และขนย้ายประชาชนจากทวีปยุโรปไปตั้งถิ่นฐานใน ทวีปอเมริกาใต้ภายหลังสงคราม รวมทั้งมีบทบาทช่วยเหลือให้ผู้พลัดถิ่น และผู้โยกย้ายถิ่นฐานให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใหม่
ต่อมา ICEM ได้ขยายขอบข่ายการปฏิบัติงานออกไปทั่วโลก จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน” (Intergovernmental Committee for Migration – ICM) และในปี 2533 ICM ก็ได้แก้ไขธรรมนูญโดยความเห็นชอบของประเทศสมาชิก (รวมทั้งประเทศไทย) เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทขององค์การที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในกิจกรรมการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการพัฒนา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น International Organization for Migration – IOM ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
IOM มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- ประเทศสมาชิก
ปัจจุบัน (มิถุนายน 2548) IOM มีประเทศสมาชิกรวม 112 ประเทศ และมีประเทศผู้สังเกตการณ์รวม 23 ประเทศ นอกจากนี้ สมาชิกของ IOM ยังประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติและองค์การพัฒนาเอกชน (NGOs)
ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก IOM เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2529 และเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหาร IOM ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2532 ถึงพฤศจิกายน 2534 เป็นเวลา 2 ปี
- องค์กร
องค์กรของ IOM ประกอบด้วย
3.1 คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งจะประชุมสมัยสามัญกันปีละ 1 ครั้ง มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนโยบาย โครงการ และงบประมาณ
3.2 คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 11 ประเทศ และจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี มีหน้าที่เตรียมการและเสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะมนตรีโดยไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ
3.3 ฝ่ายบริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการใหญ่และรองผู้อำนวยการใหญ่
- งบประมาณ
IOM จัดสรรงบประมาณออกเป็น 2 ส่วนคือ งบด้านการบริหารและงบด้านการปฏิบัติการ
- ภารกิจของ IOM ในประเทศไทย
- IOM เริ่มปฏิบัติภารกิจในไทยตั้งแต่ปี 2518 โดยให้ความช่วยเหลือเรื่อง
การตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน บทบาทและการประสานงานระหว่าง IOM กับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกของ IOM ในปี 2529
- หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่หลักในการประสานงานกับ IOM ในไทยได้แก่
กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย
- IOM มีสำนักงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ต่างชาติจำนวน 26 คน
รวมถึง Chief of Mission, ผู้แทนส่วนภูมิภาค โดยปัจจุบันชื่อ นางสาว Reiko Matsuyama เจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการ ผู้ประสานงานโครงการส่วนภูมิภาค Regional Laboratory Manager และแพทย์และพยาบาล และมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจำนวน 53 คน
- ตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 สำนักงาน IOM ณ กรุงเทพฯ ได้ขยายเป็น
สำนักงานระดับภูมิภาค โดยจะปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครอบคลุมกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน และปัจจุบัน IOM มีสำนักงานในกัมพูชา เวียดนาม ลาวและเมียนมา
- สำนักงาน IOM ที่กรุงเทพฯ มีภารกิจในการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผล
ของปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่เป็นระบบ (Bangkok Declaration on Irregular Migration) ดังนั้น สำนักงาน IOM ที่กรุงเทพฯ จึงจัดทำโครงการทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับปฏิญญาดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน เช่น แรงงาน สุขภาพ การประสานความร่วมมือทางวิชาการ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การสร้างความตระหนักโดยการประชาสัมพันธ์ข้อมูล และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่เป็นระบบในภูมิภาค
————————————————
จัดทำโดย กลุ่มงานอาเซียน
สิงหาคม 2561